สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

เจ้าหนี้ส่งหนังสือทวงถามให้ผู้ค้ำประกันเกิน ๖๐ วัน นับแต่ลูกหนี้ผิดนัด ผลเป็นอย่างไร

แม้สัญญาค้ำประกันจะทำขึ้นก่อนกฎหมายฉบับปัจจุบันใช้บังคับ แต่การบอกกล่าวให้ผู้ค้ำประกันทราบว่า ผู้ค้ำประกันต้องชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้จะต้องบอกกล่าวให้แก่ผู้ค้ำประกันทราบภายใน ๖๐ วัน นับแต่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ หากไม่ได้บอกกล่าวก็ไม่มีอำนาจฟ้องผู้ค้ำประกันได้ แต่หากว่า บอกกล่าวให้แก่ผู้ค้ำประกันทราบแล้ว แต่เป็นการบอกกล่าวเกินกว่า ๖๐ วัน นับแต่ลูกหนี้ผิดนัด ทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากการชำระค่าดอกเบี้ย รวมถึงค่าเสียหายอื่นๆ ที่เกินกว่า ๖๐ วัน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5789/2562

สัญญาค้ำประกันทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติการใช้บังคับมาตรา 681/1 ไว้เป็นอย่างอื่น ข้อสัญญาตามสัญญาค้ำประกันที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงใช้บังคับได้ ส่วนมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 บัญญัติให้เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันก่อนใช้สิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ และหากเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มาตรา 686 ใช้บังคับนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2558 โจทก์ส่งหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 28 มกราคม 2558 ไปยังจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการบอกกล่าวก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด ส่วนหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 เป็นการบอกกล่าวเกินกำหนด 60 วัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงหลุดพ้นความรับผิดเฉพาะแต่ดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดดังกล่าว แต่หน้าที่ในการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์กรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนั้นเป็นหนี้ประธาน หาใช่ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ ตามมาตรา 686 วรรคสอง แต่อย่างใดไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์ด้วย

 

สัญญาค้ำประกันทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติการใช้บังคับมาตรา 681/1 ไว้เป็นอย่างอื่น ข้อสัญญาตามสัญญาค้ำประกันที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงใช้บังคับได้ ส่วนมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 บัญญัติให้เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันก่อนใช้สิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ และหากเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มาตรา 686 ใช้บังคับนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2558 โจทก์ส่งหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 28 มกราคม 2558 ไปยังจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการบอกกล่าวก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด ส่วนหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 เป็นการบอกกล่าวเกินกำหนด 60 วัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงหลุดพ้นความรับผิดเฉพาะแต่ดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดดังกล่าว แต่หน้าที่ในการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์กรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนั้นเป็นหนี้ประธาน หาใช่ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ ตามมาตรา 686 วรรคสอง แต่อย่างใดไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์ด้วย

ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน บม 2885 กาฬสินธุ์ ไปจากโจทก์ในราคาไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 599,080.32 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวดรายเดือนมีกำหนด 72 เดือน ในอัตราเดือนละ 8,320.56 บาท กับภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 582.44 บาท เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 1 ธันวาคม 2556 และงวดต่อไปชำระทุกวันที่ 1 ของเดือน โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันชำระหนี้ค่าเช่าซื้อโดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อเพียง 20 งวด โดยชำระถึงงวดประจำวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 28 มกราคม 2558 แจ้งการค้างชำระค่าเช่าซื้อไปยังจำเลยที่ 2 และที่ 3 และมีหนังสือลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระรวม 4 งวด พร้อมเบี้ยปรับ ค่าติดตามทวงถาม รวมเป็นเงิน 53,916.42 บาท และบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว จำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ สำหรับคดีของจำเลยที่ 1 และความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในค่าขาดประโยชน์ โจทก์ไม่ฎีกา จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมหรือไม่ เห็นว่า สัญญาค้ำประกันทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวบัญญัติว่า บทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนสัญญาที่ได้ทำไว้ก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่กรณีที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น เมื่อพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวไม่ได้บัญญัติถึงการใช้บังคับมาตรา 681/1 ไว้เป็นอย่างอื่น สัญญาข้อ 5 ที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อจึงใช้บังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะ ส่วนมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ที่บัญญัติให้เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันก่อนใช้สิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ และหากเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลา 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ให้ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ใช้บังคับนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คือวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 เมื่อข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ตั้งแต่งวดที่ 21 ประจำวันที่ 1 สิงหาคม 2558 ที่โจทก์ส่งหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการบอกกล่าวก่อนจำเลยที่ 1 ผิดนัด ส่วนหนังสือให้ชำระหนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 เป็นการบอกกล่าวจำเลยที่ 2 และที่ 3 เกินกำหนด 60 วัน นับแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัด เช่นนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดเฉพาะแต่ดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แต่หน้าที่ในการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์กรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนั้นเป็นหนี้ประธาน หาใช่ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ตามมาตรา 686 วรรคสอง แต่อย่างใดไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์ด้วย ที่จำเลยที่ 2 แก้ฎีกาว่า เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2560 จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปซ่อมที่อู่ซ่อมรถยนต์ ต่อมาตัวแทนโจทก์ได้ติดต่อและนำเอารถยนต์กลับคืนไปตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานที่แนบท้ายคำแก้ฎีกานั้น หากเป็นจริงตามอ้างก็เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องร่วมรับผิดในการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์หรือชดใช้ราคาแทน ด้วยเหตุว่าเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสามงวดติดต่อกันและโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาโดยชอบนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 275,000 บาท ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 4 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร